สายพุทธาคม
****************************
หลวงปู่หล่ำ ในชีวิตท่าน จะไม่ได้รับลูกศิษย์ง่ายๆ ในยุคหลังๆ จึงไม่ปรากฏว่าทั้งก่อนพิธีไหว้ครูและในวันไหว้ครู จะมีลูกศิษย์มาต่อวิชาจากท่าน การจะต่อวิชา จะต้องต่อให้ได้อย่างน้อย ๓ ปี ซึ่งท่านจะดูจนมั่นใจแล้วจึงจะถ่ายทอดวิชาให้ สายพุทธาคมนี้จึงมีเพียงไม่กี่ท่าน
ท่านแรก คือ พระอาจารย์นา (ลำเจียก) เจ้าอาวาสวัดบางปิ้ง สมุทรปราการ
ท่านที่สอง คือ พระอาจารย์เปลว (ทองเปลว) เจ้าอาวาสวัดแหลม สมุทรปราการ
ท่านที่สาม คือ อาหลำ (เซียนฮู) ฆรวาสผู้สัมผัสญาณปู่ฤๅษี ชาวสิงคโปร์
สุดท้าย ท่านที่สี่ คือ พระมหาวิบูลย์ กิจฺจสาโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสามัคคีธรรม กรุงเทพฯ
หลวงพ่อเผย ฐานงฺกโร
พระครูสถิตธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ชาติภูมิ
หลวงพ่อเผย นามเดิม เผย นามสกุล ม่วงทอง บิดา นายไป๋ ม่วงทอง มารดา นางเปี่ยม ม่วงทอง เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๔๗ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๓ คน คือ ๑ หลวงพ่อเผย ๒ น.ส.สมบุญ ๓ นายผาย
การศึกษา
หลวงพ่อเผย เป็นบุตรคนโต ในวัยเยาว์เป็นที่รักของบิดามารดา ท่านเติบโตมากับวัด ครอบครัวที่ฝักใฝ่ในศีลในธรรม เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ก็ไม่ได้ไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่วไป กลับติดตามบิดามารดาเข้าวัดอยู่เป็นประจำ จึงมีอุปนิสัยในบุญทานการกุศล เมื่อถึงวัยที่จะได้รับการศึกษาบิดามารดา ได้ส่งไปเรียนที่วัด ในยุคนั้น เด็กผู้ชายจะได้รับโอกาสทางการศึกษามากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ที่สอนคือพระ หลวงพ่อเผย ท่านมีความพากเพียรเรียนรู้ จนใช้ภาษาไทยได้ดีพอสมควร และยังได้ศึกษาภาษาขอมด้วย ถึงกระนั้นก็ยังคอยช่วยเหลืองานทางบ้านไม่เคยขาด ท่านเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ต่อมาอายุท่านได้ ๒๑ ปี จึงได้เข้ารับราชการเกณฑ์เป็นตำรวจ ๒ ปี ในยุคนั้น มีเกณฑ์อยู่อย่าง คือ ทหารกับตำรวจ
อุปสมบท
เมื่อปลดประจำการจากตำรวจแล้ว จึงได้อุปสมบทเมื่อตอนอายุ ๒๓ ปี ที่วัดบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๗๐ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีเถาะ โดยมีพระอธิการฉ่ำ วัดท้องคุ้ง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เที่ยง วัดบางหัวเสือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเชย วัดบางกระสอบ เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ฐานงฺกโร
อุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบางหญ้าแพรก ด้วยว่าท่านมีทุนเดิมในเรื่องการศึกษาอยู่ก่อนแล้ว จึงได้ศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป ท่านต้องเดินเท้าลุยสวนมะพร้าวแล้วลงเรือไปเรียนนักธรรมที่วัดทรงธรรม โดยเฉพาะหน้าฝนยิ่งลำบากมาก แต่ถึงกระนั้นท่านก็สามารถสอบผ่านนักธรรมชั้นตรีได้ ท่านได้ชื่อว่ามีปฏิภาณไหวพริบดี สามารถอ่านคัมภีร์ที่เป็นภาษาขอมได้อย่างชำนาญ ในเรื่องการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ท่านได้ไปเรียนกับครูบาอาจารย์ที่บวชให้ท่าน ซึ่งแต่ละท่านนั้น เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวสมุทรปราการ ท่านไม่ฝึกแต่เรื่องกัมมัฏฐานเท่านั้น ยังศึกษาวิทยาคมจากครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงในยุคนั้น มีทั้งหลวงพ่อทอง วัดราชฏร์โยธา หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ เมื่อท่านศึกษาเรียนรู้จนสำเร็จตามสมควรแล้ว ท่านยังคงปฏิบัติหน้าที่ภายในวัดอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จนได้รับความไว้วางใจ ตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาส จนเมื่ออธิการวงษ์ มรณภาพแล้ว ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา หลังจากเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้พัฒนาวัดบางหญ้าแพรก ให้เจริญมาโดยลำดับ และส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณร รวมถึงการก่อนสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัด จนถึงก่อสร้างโรงเรียนปริยัติธรรม ซึ่งท่านเป็นผู้สอนเองในระยะแรกๆ เมื่อมีนักเรียนสอบผ่านจำนวนมากขึ้น จนสามารถเป็นอาจารย์สอนแทนท่านได้ ท่านจึงได้หยุดสอน แต่ยังคงให้การสนับสนุนไม่เคยขาด ในด้านการปกครอง ท่านอบรมพระภิกษุให้มีความรักสามัคคีกัน ท่านจะไม่ดุด่าว่าใคร ใช้ความเมตตาเป็นที่ตั้ง ท่านจึงเป็นที่รักและเคารพของลูกศิษย์ทุกคน
ในด้านการสงเคราะห์ชุมชน ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนประชาบาลวัดบางหญ้าแพรก เดิมทีเป็นโรงเรียนประชาบาลซึ่งอาศัยเรียนอยู่ที่ศาลาวัด ท่านได้ติดต่อกับทางราชการให้ก่อสร้างอาคารชั้นในที่ดินของวัดโดยบริจาคทุนส่วนตัวกับทางราชการและประชาชนร่วมบริจาค และได้ศิษยานุศิษย์มาช่วยกันก่อสร้างจนสำเร็จ ท่านยังคงให้การอุปถัมภ์โรงเรียนมาโดยตลอด โดยเปิดสอนธรรมศึกษาด้วย มีรายชื่อนักเรียนเข้าสอบสนามหลวงเป็นประจำทุกปี
วิทยฐานะ
ท่านได้ศึกษาภาษาไทย จนอ่านออกเขียนได้ ในสมัยก่อนที่เรียกว่า ไทยมูลบท พ.ศ. ๒๔๗๖ สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนคณะจังหวัดสมุทรปราการ
ด้านการปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นรองเจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรก พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรก และกรรมวาจาจารย์ พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นกรรมการสงฆ์ อำเภอพระประแดง ตำแหน่งสาธารณูปการ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นผู้ช่วยคณะอำเภอพระประแดง พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นประธาน อ.ป.ต. ตำบลบางหญ้าแพรก พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นพระอุปัชฌาย์
ผลงานการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นผู้อุปการะโรงเรียนประชาบาลวัดบางหญ้าแพรก และริเริ่มการสร้างอาคารเรียนถาวร พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นผู้ก่อตั้งสถานศาสนศึกษาในวัดบางหญ้าแพรก พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และเป็นกรรมการสอบธรรมสนามหลวง
ด้านสาธารณูปการ
พ.ศ. ๒๔๘๐ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๔๘๗ สร้างศาลาการเปรียญ หอระฆัง พ.ศ. ๒๔๘๘ สร้างหอสวดมนต์เรือนไม้สองชั้น พ.ศ. ๒๔๘๙ สร้างกุฏิทรงไทยสองชั้น พ.ศ. ๑๔๙๑ สร้างกุฏิทรงไทยชั้นเดียว พ.ศ. ๒๔๙๒ สร้างกำแพงกันเขตสังฆาวาสและหอฉันสองชั้น พ.ศ. ๒๕๑๔ สร้างโรงครัว พ.ศ. ๒๕๑๕ สร้างศาลาการเปรียญ พ.ศ. ๒๕๑๙ สร้างเมรุเผาศพ พ.ศ. ๒๕๒๐ ปฏิสังขรณ์อุโบสถ พ.ศ. ๒๕๒๑ สร้างซุ้มประตูเข้าวัด พ.ศ. ๒๕๒๒ สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล พ.ศ. ๒๕๒๓ สร้างกุฏิไม้ทรงไทย พ.ศ. ๒๕๒๔ สร้างศาลาสามัคคีสัจจธรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล พ.ศ. ๒๕๒๖ สร้างกุฏิทรงไทย พ.ศ. ๒๕๒๗ สร้างกุฏิสงฆ์ทรงไทยแต่ยังไม่สำเร็จ หลวงพ่อก็มรณภาพเสียก่อน ภายหลังสำเร็จแล้วให้ชื่อว่า ศาลา ๖๐ พรรษา
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นประทวนสมณศักดิ์ ที่ พระครูเผย พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฏร์ ชั้นตรี ที่ พระครูสถิตธรรมคุณ พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฏร์ ชั้นโท ในราชทินนามเดิม พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฏร์ ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
เราจะเห็นได้ว่า อัตตชีวประวัติของหลวงพ่อเผย ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น ท่ามกลาง และบั้นปลายชีวิตของท่าน ล้วนแล้วแต่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับพระศาสนาและประชาชนเป็นอันมาก ท่านอุทิศตนเพื่อผู้คนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีศีลาจารวัตรที่งดงาม บารมีธรรมของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ต่อผู้ที่ได้สนทนาและพบเห็นเป็นยิ่งนัก ควรแก่การยเคารพกย่องและเชิดชู แม้ตัวท่านจะไม่ได้อยู่แล้ว แต่ชื่อเสียงคุณงามความดีที่ท่านสั่งสมมา ยังคงเป็นที่กล่าวขานตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และในอนาคตสืบต่อไป
มรณกาล
หลวงพ่อเผย มรณภาพ เมื่อ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๘ รวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๑ เดือน ๑๕ วัน
หลวงพ่อหลิม พฺรหฺมโชโต
อาวาสวัดน้อย อำเภอ เมือง จังหวัด ชลบุรี
ชาติภูมิ
หลวงพ่อหลิม พฺรหฺมโชโต หรือพระอธิการหลิม บ้างก็เรียกก๋งหลิม เกิดวันศุกร์ เดือนอ้าย ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นพระผู้มีวัตรปฏิบัติที่เรียบร้อย ชอบออกเดินธุดงค์ เพื่อฝึกจิต ตามที่ต่างๆ ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดน้อย เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดน้อย หลังจากได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง โดยเริ่มจากปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และต่อมายังได้สร้างโบสถ์ จนเป็นวัดที่สมบูรณ์ แต่ท่านก็ยังไม่ได้หยุดแค่นั้น ยังสร้างวิหาร ศาลา กุฏิ โรงครัว สร้างความเจริญให้วัดน้อยเป็นอย่างมาก จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของญาติโยมที่ได้พบเห็น
ปฏิปทา
ท่านไม่ได้เก่งแต่เรื่องการสร้างวัตถุเท่านั้น ยังสร้างพระสงฆ์ด้วย โดยสนับสนุนให้พระไปศึกษายังวัดที่มีการเรียนการสอน นอกจากจะเป็นนักสร้าง นักสอน ท่านยังเป็นนักเสกด้วย วิชาคาถาอาคมของท่าน เป็นที่กล่าวขานไปทั่ว มีผู้ที่ศรัทธาเดินทางมาให้ท่านได้สงเคราะห์ไม่ขาดสาย
วัตรปฏิบัติ
ศีลาจารวัตรของหลวงพ่อหลิมนั้นได้รับการยกย่องว่า งดงามเป็นที่ศรัทธาแก่ผู้ได้พบเห็น ท่านพูดจาไพเราะ ใครได้สนทนากับท่านแล้ว ถือว่าเป็นบุญยิ่งนัก ถึงแม้ท่านจะมีภารกิจมากมาย ร่างกายพักผ่อนไม่เต็มที่ แต่ท่านกลับไม่มีโรคภัยเบียดเบียน และสิ่งหนึ่งที่ท่านปฏิบัติไม่ขาดเลยคือการทำวัตรสวดมนต์ เจริญกัมมัฏฐาน บิณฑบาตเป็นวัตร อยู่ต่อมาเส้นทางชีวิตของท่าน ก็เป็นไปตามธรรมดาของสังขาร เมื่อท่านเข้าสู่วัยชราภาพ ท่านได้อาพาธหนักสุดในชีวิต ถึงกระนั้นนท่านก็ได้นำกัมมัฏฐานที่ฝึกปฏิบัติมา เจริญในขณะที่ทำการรักษา แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์
มรณกาล
หลวงพ่อหลิม มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ สิริอายุรวม ๘๕ ปี ๖๕ พรรษา
หลวงปู่หล่ำฝากตัวเป็นศิษย์
หลวงปู่หล่ำในยุคที่ท่านพาพระออกธุดงค์ไปทั่วสารทิศ ท่านได้มีโอกาสฝากตัวขอเรียนวิชาเสือกับหลวงพ่อหลิม ซึ่งหลวงพ่อหลิมได้สืบวิชาเสือมาจากหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ในยุคก่อนที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองเสือนั้น จะมีลูกศิษย์หลวงปู่หล่ำ ได้นำ หนังเสือบ้าง เขี้ยวเสือบ้าง มาให้หลวงปู่หล่ำ จารและปลุกเสก แต่ไม่ได้เป็นทางการ และไม่ได้มีสัญลักษณ์อะไร ภายหลังมาอยู่วัดสามัคคีธรรม ลูกศิษย์ได้ไปซื้อเสือโลหะ ตามร้านตลาดมาให้ปลุกเสก และยุคหลังเมื่อปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา ได้สร้างแบบเป็นทางการ ทั้งเนื้อโลหะ เนื้อไม้ และเนื้อผง
หลวงพ่อเกลี้ยง
หลวงพ่อเกลี้ยง ธมฺมทินโน วัดวิสุทธิโสภณ
ชาติภูมิ
พระครูโสภณวิสุทธิ์ หรือหลวงพ่อเกลี้ยง ธมฺมทินโน ท่านมีนามเดิมว่า เกลี้ยง นามสกุล โทนุบล เกิดเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘ ปีเถาะ ที่บ้านเลขที่ ๓ หมู่ ๓ บ้านเป๊าะ ตำบลบึงบูรพ์ อำเภออุทุมพรพิสัย (ปัจจุบัน อ.บึงบูรพ์) จังหวัดศรีสะเกษ โยมบิดาชื่อ นายแสง โทนุบล โยมมารดาชื่อ นางทุม โทนุบล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ทั้งหมด๑๐ คน หลวงพ่อเกลี้ยง เป็นคนที่ ๙
อุปสมบท
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์ นายเกลี้ยง โทนุบล ได้เข้ารับการอุปสมบทที่วัดวิสุทธิโสภณ ในปี ๒๔๗๘ โดยมี พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธมฺมทีโป) เป็นพระอุปัชฌาย์ -พระอธิการบุญมา ธมฺมโชโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ - พระใบฎีกาสุพรรณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับ ฉายาว่า "ธมฺมทินโน" แปลว่า "ผู้ให้ธรรมเป็นทาน "
ศึกษาไสยเวทย์วิชาอาคม
ท่านจำวัดอยู่ที่วัดสุวรรณารี (วัดบ้านโนน) จ.สุรินทร์ ในปี ๒๔๗๘ เรียนวิชากับ อาจารย์เปิ้ม (อาจารย์ฆราวาส) ท่านเก่งทางด้านถอดถอนคุณไสย และมาจำวัดอยู่ที่วัดมะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา และเรียนวิชารักษาคนบ้ากับอาจารย์จำปา (อาจารย์ ฆราวาส) ท่านแสวงหาอาจารย์เก่งๆขลังๆหลายท่าน ไปเรียนวิชากับ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, และหลวงพ่อเผยวัดบางหญ้าแพรกฯลฯ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ท่านเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ แถบถิ่นแถวเมืองหลวง (กรุงเทพมหานคร) และปริมณฑล หลวงพ่อเกลี้ยง ท่านเป็นคนที่ชอบในวิชาไสยเวทย์เป็นอย่างมาก ทั้งยังศึกษาด้วยตนเองและในพระคัมภีร์หรือตำราต่างๆ
ปฏิปทา
หลวงพ่อเกลี้ยง ท่านมีอุปนิสัยเป็นคนเสียงดัง ชัดเจน โอภาปราศรัย รักสะอาด คล่องแคล่ว ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดบางหญ้าแพรก ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒) หลวงพ่อเกลี้ยง ท่านได้กลับบ้านเกิด มาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสที่วัดวิสุทธิโสภณ เมื่อปี ๒๔๙๒ และได้ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลบึงบูรพ์ เมื่อปี พ.ศ ๒๕๐๔ ในปี ๒๕๐๕ หลวงพ่อเกลี้ยง ท่านเป็นพระลูกวัด ได้รับแต่งตั้งจากทพระราชคุณาภรณ์ (ดาว ญาณธโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นพระครูปลัดเกลี้ยง (พระครูฐานานุกรม) ต่อมาในปี ๒๕๑๑ หลวงพ่อเกลี้ยง ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวิสุทธิโสภณ (เป็นครั้งที่ ๒)
สมณศักดิ์
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ พระครูปลัดเกลี้ยง ธฺมมทินโน ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ " พระครูโสภณวิสุทธิ์ " -๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙ ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ -ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอบึงบูรพ์ -ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ หลวงพ่อเกลี้ยง อายุ ๘๔ ปี ท่านลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอและได้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอบึงบูรพ์ ในเวลาต่อมา
วัตถุมงคล
วัตถุมงคล ของหลวงพ่อเกลี้ยง ธมฺมทินโน มีด้วยกันหลายรุ่น ทั้งเหรียญ รูปหล่อ และเครื่องราง พุทธคุณโดดเด่น คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหา เสน่ห์ โชคลาภมหานิยม
มรณกาล
หลวงพ่อเกลี้ยง ธมฺมทินโน มรณภาพ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เวลา ๒๐.๔๕ น.
สิริอายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๖
#ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูโสภณวิสุทธิ์ (เกลี้ยง ธัมมทินโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดวิสุทธิโสภณและอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอบึงบูรพ์
อาจารย์พาน นนท์ตา
อาจารย์พาน นนท์ตา บ้านบัวเสียว ตำบล ดอนแรด อำเภอ รัตนบุรี จังหวัด สุรินทร์ (ฆราวาสจอมขมังเวทย์)
อาจารย์พาน นนท์ตา บ้านบัวเสียว ตำบล ดอนแรด อำเภอ รัตนบุรี จังหวัด สุรินทร์ (ฆราวาสจอมขมังเวทย์)
ในปี ๒๔๙๗ หลวงปู่หล่ำเดินทางไปเรียนวิชากับหลวงพ่อเกลี้ยง หลวงพ่อเกลี้ยงได้นึกถึงอาจารย์ฆราวาสท่านหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ด้วยความที่หลวงปู่หล่ำ เป็นคนเรียนอะไรเรียนจริง และมีพลังจิตกล้าแข็ง จึงได้ไปส่งให้เรียนวิชากับอาจารย์พาน ภายหน้าท่านจะได้เป็นที่พึ่งให้กับญาติโยม ซึ่งอาจารย์พาน ก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร ตัวอาจารย์พาน ท่านก็เรียนวิชามาหลายที่ ทั้งพระทั้งฆราวาส อาจารย์พาน สมัยบวชเป็นพระ เคยได้ไปเรียนวิชากับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านเป็นพระใฝ่เรียนและชอบธุดงค์ ทั้งฝั่งไทย ฝั่งลาวและเขมร ในยุคสมัยนั้นไม่ว่าจะเดินทางไปในที่แห่งใด ก็มักจะเจอคนมาลองวิชา แต่ท่านก็ได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมา อย่างชนิดไม่เสียชื่อครูบาอาจารย์ หลังจากสึกมาแล้ว ก็ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหลายสมัย และยังได้รับตำแหน่งเป็นกำนันจนบั้นปลายชีวิตอีกด้วย
ในการเรียนวิชาทางสายอาจารย์พาน นนท์ตานั้น วิชาของท่านมีข้อถือและเจริญสติทุกอย่างก้าว จึงไม่เกินวิสัยของหลวงปู่หล่ำ และวิชาป้องกันตัวที่เลื่องลือ คือการลงน้ำมันงาแช่รากยา น้ำมันนี้ใช้ในทางคงกระพัน และยังป้องกันคุณไสย์ ภูติผีปีศาจและเป็นเมตตา ท่านยังได้เรียนวิชาทำตะกรุดโทน ตะกรุด๙ดอก และวิชาทำตะกรุดใต้น้ำ ที่ต้องดำน้ำลงไปจารตะกรุด เมื่อเสร็จแล้ว ก็นำมาลองยิงกันเลย ยังมีวิชาหนึ่งที่ได้ผลและเป็นที่ประจักษ์แก่ศิษยานุศิษย์คือ "วิชาเป่ายันต์ครอบจักรวาล" ซึ่งเป็นวิชาที่น้อยท่านนัก ที่จะได้รับการสืบทอดวิชานี้ คนทั่วไปมักเรียกว่า การลงนะหน้าทอง เป็นสุดยอดพิธีขลังตามแบบฉบับของศาสตร์โบราณ ที่จัดได้ว่าเป็นสุดยอดแห่งเมตตามหาเสน่ห์อีกวิชาหนึ่ง
ในช่วงบันปลายชีวิตของอาจารย์พาน ท่านป่วยเป็นโรคด้านในท้อง หมอไม่สามารถผ่าตัดได้ จึงให้คนมาตามหลวงปู่หล่ำ ให้มาทำให้หมอผ่าตัดได้ หลังจากนั้น หลวงปู่หล่ำก็ออกธุดงค์และไม่สามารถติดต่อได้ แผลนั้นไม่ประสานกัน ทำให้ติดเชื้อ เป็นเหตุให้ท่านเสียชีวิตในที่สุด
หลวงพ่อครื้น อมโร
(พระครูโฆสิตธรรมสาร) เจ้าอาวาสวัดสังโฆสิตาราม ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อครื้น อมโร มีนามเดิมว่า ครื้น ศรีบัวทอง เกิดที่ ตำบลบางใหญ่ อำเภอ บางปลาม้า จังหวัด สุพรรณบุรี ในวัยเด็ก ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดบางใหญ่ ในสมัยนั้นโรงเรียนจะอยู่ที่วัด จนเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทตามประเพณ เป็นครั้งแรก ในปี ๒๔๖๔ ช่วงที่บวชอยู่นั้น ท่านไม่ได้อยู่เฉย ยังได้ศึกษาหาความรู้ บวชอยู่ได้ราว ๒ พรรษา บิดามารดามาขอร้องให้ท่านไปช่วยงาน ท่านจึงได้สึกขาลาเพศออกมาและได้แต่งงาน อยู่กินกับภรรยาจนตั้งท้องและเสียชีวิตในขณะคลอดลูก ใช้ชีวิตฆราวาสราว ๓ ปี ได้เห็นสัจจธรรมของชีวิต ว่าชีวิตก็เพียงเท่านี้ จึงตั้งใจที่จะบวชแบบถวายชีวิตในพระศาสนา คือตั้งใจบวชไม่สึก ท่านจึงได้ อุปสมบท ที่วัดบางใหญ่ เป็นครั้งที่สอง และได้จำพรรษาที่วัดสังโฆสิตาราม ท่านมีความสนใจในเรื่องวิชาคาถาอาคม และการปฏิบัติกัมมัฏฐาน จึงได้ไปเรียนกับหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน ซึ่งในยุคนั้น มีหลวงพ่อสด วัดปากน้ำก็เป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อโหน่งเหมือนกัน ท่านยังสนใจศึกษาวิชาทำนายทายทักกับพระอธิการฉัตร วัดสุขเกษม ซึ่งเป็นอนุสาวนาจารย์ของท่าน คอยบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างศาลาการเปรียญ เปิดสอนพระปริยัติธรรมสำหรับพระสงฆ์และสามเณร และยังได้สร้างโรงเรียนประชาบาลด้วย ท่านไม่ได้สร้างแค่วัดสังโฆเท่านั้น ยังไปช่วยสร้างวัดอีกหลายวัด สร้างโบสถ์ สร้างพระและเสนาสนะอีกหลายที่
ลำดับสมณศักดิ์
ปี ๒๔๗๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสังโฆสิตาราม
ปี ๒๔๘๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านแหลม
ปี ๒๔๙๓ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการศึกษา อ.บางปลาม้า
ปี ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูโฆสิตธรรมสาร
เครื่องราง
ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาไม่ใช่แต่จังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น บารมีของท่านยังแผ่ไปทั่วประเทศ ท่านยังสร้างวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังไว้มากมายหลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ และสิ่งที่ทำให้คนจดจำนั่นคือเรื่องของการปลุกเสกพระและวัตถุมงคลที่ต้องกางมุ้งไม่ให้วัตถุมงคลบินลอยไป และท่านยังได้สร้างเครื่องรางอีกหลายอย่าง เช่น สิงห์ ช้าง นก ปลา จระเข้ แต่ที่สร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ คือตุ๊กแกมหาลาภเรียกทรัพย์ ถ้าบ้านไหนมีไว้ ได้ยินเสียงร้องเมื่อไร ก็จะมีโชคมีลาภ หรือมีสิ่งดีๆเข้ามา ซึ่งในประเทศไทยต้องถือว่าท่านเป็นต้นตำหรับ
หลวงปู่หล่ำขอเป็นศิษย์
หลวงปู่หล่ำได้ยินชื่อเสียงหลวงพ่อครื้น มาอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่ได้มีโอกาสได้พบเจอ หลวงพ่อครื้น มักได้รับนิมนต์มาพระนครอยู่บ่อยครั้ง ท่านจะไปแวะที่วัดพลับ เพราะมีลูกศิษย์อยู่ที่นั่น และเดินทางไปหาน้องสาวซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดบางหญ้าแพรก สมุทรปราการ ครั้งหนึ่งได้มาพักที่วัดบางหญ้าแพรก หลวงปู่หล่ำจึงได้มีโอกาส จัดที่พักรับรอง และเห็นว่าเป็นโอกาสอันดี จึงเข้าไปกราบและขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขอเรียนวิชาด้วย หลวงพ่อครื้นไม่ได้รับปากอะไร เพียงแต่พูดคุยกันปกติ แต่ก็รู้ว่าถ้อยคำที่พูดคุยกันเป็นการสอบภูมิธรรมในเรื่องกัมมัฏฐาน ซึ่งหลวงปู่หล่ำ ท่านได้ปฏิบัติมาอย่างช่ำชองอยู่แล้ว จึงตอบตามที่ปฏิบัติมา สังเกตว่าท่านพอใจ เมื่อหลวงพ่อครื้นเสร็จภารกิจ ท่านก็เดินทางกลับวัดสังโฆ หลวงปู่หล่ำในตอนนั้น ต้องทำหน้าที่แทนหลวงพ่อเผย แต่ท่านก็มีความมุมานะในการที่จะไปศึกษากับหลวงพ่อครื้น แม้การเดินทางยากลำบาก ท่านก็ดันด้นไป เพื่อขอเรียนวิชา ท่านเดินทางไปมาอยู่เรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งขณะที่อยู่วัดพระไกรสีห์(น้อย) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ จังหวัดพระนคร พระที่สนทนากับหลวงปู่หล่ำ มีอาการแปลกๆ กว่าทุกวัน ท่าทาง และน้ำเสียงเหมือนคนแก่ แล้วได้เอ่ยขึ้นว่า หลวงพ่อครื้นให้มาตามไปพบเป็นการด่วน ย้ำแต่ให้ไปด่วน ไม่บอกว่ามีเรื่องอะไร ท่านก็ออกเดินทาง พอไปถึงก็กราบและสนทนากัน ได้เห็นหลวงพ่อครื้น มีร่างกายอ่อนแอด้วยโรครุมเร้า ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้ค่ำ ท่านพูดอย่างคนกันเองกับหลวงปู่หล่ำว่า "เฮ้ย ท่านไม่ให้กูอยู่แล้ว" ความหมายก็คือ ใกล้วาระแห่งการดับขันธ์ของท่านแล้ว ในใจหลวงปู่หล่ำนั้นก็คิดว่า อายุหลวงพ่อครื้น ก็ยังไม่ได้แก่ชราอะไรมาก ท่านจะละสังขารแล้วรึ แต่ก็ไม่ได้เอ่ยอะไรไป หลวงพ่อครื้น สอบถามถึงวิชาต่างๆที่เคยสอนไป ซึ่งหลวงปู่หล่ำ ก็ยังคงจดจำได้เป็นอย่างดี คืนนั้นช่วงที่รอดูอาการอยู่นั้นหลวงปู่หล่ำ เดินออกไปดูด้านนอก ก็เห็นว่ามีนกแสกซึ่งเป็นนกแห่งยมทูต เกาะอยู่บนหลังคาศาลา ดูลักษณะแล้วคิดในใจว่าหลวงพ่อครื้นคงจะไม่รอดเสียแล้วกระมัง ท่านนึกถึงเมื่อครั้งสมัยที่มาเรียนวิชา ในตอนนั้นได้มาเจอกับหลวงพ่อยอด ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน ท่านยังจำคำที่หลวงพ่อครื้นเคยกล่าวได้ว่า ในศิษย์สององค์นี้ มีองค์หนึ่ง ต้องไปก่อน หลังจากท่านไม่อยู่แล้ว อันหมายถึง เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว ไม่องค์ใดก็องค์หนึ่งเมื่อเสร็จภาระหน้าที่ก็จะละสังขาร หลวงพ่อยอด หลังจากสร้างโบสถ์เสร็จท่านก็ละสังขาร หลวงปู่หล่ำเป็นศิษย์ที่หลวงพ่อครื้นให้ความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าใครได้ใกล้ชิดกับหลวงปู่หล่ำ มักจะได้ยินท่านพูดถึงหลวงพ่อครื้นอยู่เสมอๆ และจะน้ำตาไหลทุกครั้งที่เอยถึง หลวงพ่อครื้นเคยปรารภว่า สอนวิชาให้ใครต่อใครมาก็มาก แต่วิชาตุ๊กแกหาคนสืบทอดยาก ที่สอนให้หลวงปู่หล่ำเพราะเห็นว่า ท่านมีภูมิธรรมและพลังจิตแก่กล้า เหมาะสมที่จะเรียนวิชานี้ได้ จึงสอนวิชาปลุกเสกตุ๊กแกให้ด้วยความเต็มใจ
คำสั่งเสีย
ในช่วงที่หลวงพ่อครื้นใกล้มรณภาพ ท่านได้อยู่ในอ้อมกอดของหลวงปู่หล่ำ ท่ามกลางศิษยานุศิษย์มากมาย ท่านได้บอกว่า "หล่ำ เอ้ย พ่อจะไปแล้วนะ วิชาของพ่อมอบให้หล่ำไปหมดแล้ว ต่อไปต้องสงเคราะห์ชาวบ้านแทนพ่อด้วยนะ" อันเป็นคำพูดสุดท้ายที่หลวงครื้นได้สั่งเสีย จนเวลาผ่านมา ราว ๑๐ ปี เมื่อครั้งกำลังดำเนินการสร้างโบสถ์วัดสามัคคีธรรม ท่านเห็นว่า ได้เวลาตามที่ได้รับปากหลวงพ่อครื้นแล้ว จึงได้เริ่มสร้างตุ๊กแกเป็นทางการ ครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๑๖ และสร้างตอนฉลองโบสถ์ปี ๒๕๓๐ และสร้างในยุคหลังๆอีกหลายครั้ง
มรณกาล
หลวงพ่อครื้นมรณภาพลง วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๕
หมายเหตุ : ข้อมูลผิดพลาดขออภัย
หลวงปู่หล่ำ สิริธมฺโม
(พระครูสิริธรรมรัต) ปฐมเจ้าอาวาสวัดสามัคคีธรรม วังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
ชาติภูมิ
หลวงปู่หล่ำ มีนามเดิมว่า หล่ำ แซ่เจ็ง เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๗๒ ที่ ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โยมบิดา ชื่อ นายจุ๊ยเตียง แซ่เจ็ง โยมมารดา นางปิ่น แซ่ซิ้ม เมื่ออายุได้ ๗ ปี โยมมารดาถึงแก่กรรมโยมบิดาจึงต้องพามาอยู่กับโยมตาโยมยายซึ่งมีอาชีพทำสวน
อุปสมบท
เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๒ ที่วัดบางหญ้าแพรก อำเภอบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรปราการโดยมีพระครูศิริศีลคุณ (พระราชวิริยาภรณ์) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสถิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเผย ฐานงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสมุห์ผ่อง (พระครูบวรสมุทรกิจ) เจ้าอาวาสวัดปุณหังสนาวาส
เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "สิริธมฺโม" เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ ที่กุฏิ ๙ ห้อง วัดบางหญ้าแพรก กับหลวงพ่อเผย
ปฏิปทา
หลวงปู่หล่ำ เป็นพระที่ใฝ่ศึกษา แสวงหาครูบาอาจารย์ ที่มีภูมิธรรมทั้งสมถะและวิปัสสนา ทั้งฆราวาสและพระภิกษุ เมื่อได้ตั้งใจที่จะทำสิ่งใดแล้ว ไม่เคยมีคำว่าท้อถอย ท่านต้องเดินธุดงค์เท้าเปล่าไปไกลหลายร้อยกิโล เพื่อไปเรียนวิชา ครูบาอาจารย์บางท่าน ต้องเดินธุดงค์ไปหาอยู่หลายปี กว่าที่จะได้คาถามาซักบทหนึ่ง บางท่านต้องผ่านการทดสอบ ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ แต่ด้วยความเพียรที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ท่านไม่เคยปริปากบ่น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ รักษาสัจจะ รักศักดิ์ศรีความเป็นพระ ความเคร่งครัดในศีลาจารวัตร พูดน้อย ไม่ถามก็จะไม่พูดอะไรมาก ท่านจะมีความเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่นมากกว่าตนเอง ญาติโยมมารอให้ท่านสงเคราะห์ ท่านจะทำให้ทุกคน บางทีพากันมาดึกดื่นเที่ยงคืน กว่าจะเสร็จสิ้น ก็ตีสามตีสี่ ท่านก็ปฏิบัติกิจของสงฆ์ต่อ จนเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยม ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
เรียนวิชา
หลวงปู่หล่ำ เรียนวิชาต่างๆ จากครูบาอาจารย์หลายต่อหลายท่าน ที่มีชื่อปรากฏชัดเจน คือ อาจารย์อาบ สมสนิท หลวงพ่อเผย วัดบางหญ้าแพรก หลวงพ่อหลิม วัดน้อย หลวงพ่อเกลี้ยง วัดวิสุทธิโสภณ อาจารย์พาน นนท์ตา หลวงพ่อครื้น วัดสังโฆ ฯลฯ
*เรียนกับอาจารย์อาบ สมสนิท -วิชากัมมัฏฐาน ลงผ้ายันต์ หมอยา ฯลฯ
*เรียนกับหลวงพ่อเผย -วิชารักษาคน หมอยา สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา อาบน้ำมนต์ ดูดวง ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๑๖ พระองค์ ยันต์สิงห์ ทำเสื้อยันต์ แม่นางตุ๊กตา วิชาลบผง ทำสีผึ้ง วิชาทางเมตตา แคล้วคลาด คงกระพัน ฯลฯ
*เรียนกับหลวงพ่อหลิม -วิชาเสือสายหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย
*เรียนกับหลวงพ่อเกลี้ยง - วิชาลงตะกรุด ผ้ายันต์ ถอนคุณไสย์ ฯลฯ
*เรียนกับอาจารย์พาน นนท์ตา - ลงน้ำมัน ลงทอง สักยันต์ ทำตะกรุดใต้น้ำ ตะกรุดใส่ตา
ตะกรุดสาลิกา ตะกรุดนวหรคุณ ตะกรุดนะอกแตก สาลิกาลิ้นทอง ลงทองครอบจักรวาล ฯลฯ
ยันต์เทพนิมิต เทพรำลึก เบี้ยแก้ หุงปรอท นั่งดูนรก-สวรรค์ สร้างพระราหู ปลาตะเพียน ฯลฯ
*เรียนกับหลวงพ่อครื้น- วิชาตุ๊กแก,จระเข้ ลงผ้ายันต์ ลงตะกรุด ฝึกจิตปลุกเสกวัตถุมงคล ฯลฯ
มรณกาล
หลวงปู่หล่ำ มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒
***********************
หลวงปู่หล่ำท่านมีชื่อเสียงในการสร้างวัตถุมงคล ได้เข้มขลังนัก ทั้งด้านเมตตา ค้าขาย แคล้วคลาด
ลูกศิษย์พูดกันติดปากว่า
ท้าวเวสสุวรรณศักดิ์สิทธิ์ ปิดตามีพลัง
ตุ๊กแกเรียกโด่งดัง เชือกคาดสุดขลัง
สมหวังแม่นางตุ๊กตากายสิทธิ์
พระอาจารย์นา
พระอาจารย์นา (ลำเจียก พูดหวาน) หรือ พระครูพิพิธพัฒนพิธาน (นา)
ชาติภูมิ
เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ปีชวด ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ท่านเป็นลูกคนโต มีน้อง ๑ คน กำพร้าพ่อ-แม่ตั้งแต่ ๓ ขวบ หลวงพ่อเผย เจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรก ได้อุปัฏถัมภ์เลี้ยงดู จนอายุ ๖ ขวบ ส่งให้เรียนโรงเรียนวัดบางหญ้าแพรก จนจบชั้นป.๔ พออายุได้ ๑๕ ปี ได้บวชเณร จนสอบได้นักธรรมตรี มีความสนใจในอักษรขอมโบราณ ฝึกจนอ่านออกเขียนได้ แต่ชีวิตพลิกผัน มีเหตุให้ได้สึกขาลาเพศ ไปทำสวน จนได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ฉะเชิงเทราหลายปี จนมาปี ๒๕๐๐ ได้ไปเป็นทหารเรือจนปลดประจำการ กลับมาใช้ชีวิตปกติธรรมดา พออายุได้ ๒๔ ปี ก็เบื่อหน่ายทางโลก เลยตัดสินใจบวช เมื่อวันเสาร์ ที่ ๙ เมษายน ๒๕๐๓ ที่วัดบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพระบวรวิมุต วัดไพรชยนต์พลเสมเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสถิตธรรมคุณ (อาจารย์เผย) วัดบางหญ้าแพรก เป็นพระกรรมวาจา พระครูสุวรรณสมุทร (พระอาจารย์ทองหล่อ) วัดครุใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อบวชแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดบางหญ้าแพรก ท่านศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ ประพฤติศาสนกิจของสงฆ์อย่างไม่บกพร่อง และท่านยังมีความจำเป็นเลิศ จึงแสดงพระปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่พรรษาแรก พอพรรษาที่สองได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบางด้วน (นอก) จังหวัดสมุทรปราการ พอได้สามพรรษา ได้ติดตามพระอาจารย์หล่ำ สิริธมฺโม ไปจำพรรษาที่วัดไกสีห์(น้อย) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ท่านจำพรรษาอยู่วัดพระไกรสีห์(น้อย)ได้ ๓ พรรษา ขณะที่อยู่วัดนี้ท่านได้ศึกษาวิชาในศาตร์ต่างๆ ด้วยความพรากเพียรเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ ด้วยที่ท่านติดตามพระอาจารย์หล่ำ ไปทุกที่ พระอาจารย์หล่ำ จึงเป็นทั้งศิษย์พี่ คอยพร่ำสอน เป็นทั้งอาจารย์ เพราะวิชาหลายๆอย่าง เช่น วิชาสักยันต์ สร้างพระราหู ทำเชือกคาดเอว ท่านได้รับการถ่ายทอดจาก พระอาจารย์หล่ำ ส่วนพระอาจารย์นาเอง ท่านเป็นพระที่มีความจำเป็นเลิศ เรียนสิ่งใด จะใช้เวลาไม่นาน จนกระทั่งปี ๒๕๐๘ ท่านทั้งสองได้ย้ายไปช่วยญาติโยม สร้างสำนักสงฆ์คลองบางปิ้ง สมุทรปราการ พระอาจารย์หล่ำอยู่ที่นั่นได้ราว ๒ พรรษา ได้มอบหน้าที่ให้พระอาจารย์นา สร้างต่อ จนสำเร็จเป็นวัดบางปิ้งที่เห็นในปัจจุบัน และท่านยังเป็นที่พึ่งให้กับญาติโยม ทั้งเป็นหมอยา หมอน้ำมนต์ ทำเครื่องรางของขลัง สงเคราะห์ผู้คน ส่วนพระอาจารย์หล่ำ ญาติโยมทางลาดพร้าวนิมนต์ให้มาช่วยสร้างวัดสามัคคีธรรม
วัตถุมงคล
พระปิดตา พระราหู เหรียญ รูปถ่ายกระจก พระร่วงนั่งเมือง เสือ จิ้งจก ตะกรุด เชือกคาดเอว ผ้ายันต์ ฯลฯ
มรณกาล
พระอาจารย์นา เป็นพระที่มีความเมตตาเป็นที่ตั้ง ท่านช่วยสงเคาะห์ผู้คน จนตัวท่านเองไม่ค่อยได้พักผ่อน จึงมีปัญหาด้านสุขภาพ จนทำให้โรคภัย เข้าเบียดเบียน ท่านเริ่มอาพาธ ด้วยโรคอัมพาตและได้เข้ารับการรักษา จนอาการดีขึ้น และกลับมาบริหารงานวัดเหมือนเดิม
จนวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ อาการได้กำเริบอีกครั้ง ลูกศิษย์ได้นำส่งโรงพยาบาล แต่อาการไม่ดีขึ้น และท่านได้มรณภาพที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล จังหวัดสมุทรปราการ
พระอาจารย์เปลว (ทองเปลว)
พระครูสมุทรสารคุณ วัดแหลม จังหวัดสมุทรปราการ
ชาติภูมิ
พระอาจารย์ เปลว จิตฺตทโม (ทองเปลว ปิ่นแก้ว) นามสกุล เกิดผล เกิดวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
อุปสมบท
อุปสมบท วันที่ ๙ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน ที่วัดกลางสวน ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ศึกษาวิชา
ท่านมีความเชี่ยวชาญตำรายา คาถาอาคม ได้ธุดงค์ทั้งเหนือ กลาง เขมร ลาว เป็นศิษย์หลวงปู่หล่ำ ยุคเดียวกับพระอาจารย์นา วัดบางปิ้ง พระอาจารย์เปลว ท่านจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของพิธีกรรม เมื่อมีการจัดพิธีบวงสรวงหรือพิธีการใดๆ หลวงปู่หล่ำ จะถามทุกครั้งว่า ท่านเปลวมารึเปล่า อันเป็นความหมายว่า ท่านจะไม่ต้องกังวลว่า งานนั้นจะไม่เรียบร้อย กล่าวกันว่า ในแต่ละวัน มีคนเข้ามาให้ท่านรักษา วันละเป็นร้อยคน แทบไม่มีเวลาพักผ่อน ในแต่ละปีท่านจะเคี่ยวน้ำมันไว้สำหรับรักษาคนที่ประสบอุบัติเหตุทางด้านกระดูก เรียกว่าทาน้ำมันของท่านแล้ว กระดูกที่หักจะประสานกันได้เร็ว เมื่อถึงงานไหว้ครูประจำปีของพระอาจารย์เปลว จะมีลูกศิษย์ลูกหา มากันเยอะมาก ต้องจอดรถข้างถนนยาวเป็นแถว ด้วยว่า ท่านเป็นพระรักษาคน ถูกคุณถูกของ หมอยา หมอน้ำมนต์ และยังเป็นหมอดูด้วย คนจึงเข้าหาท่านไม่เคยขาด และวิชาที่ได้กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็น ครูน้ำมัน ครูหมอยา ครูหมอดู ครูแก้คุณไสยต่างๆ ล้วนแล้วแต่ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่หล่ำแทบทั้งสิ้น
วัตถุมงคล
ในเรื่องของวัตถุมงคล พระอาจารย์เปลว ท่านสร้างวัตถุมงคลไม่มาก มีเหรียญ ล็อกเก็ต ฯลฯ
มรณกาล
พระอาจารย์เปลว ท่านต้องช่วยสงเคราะห์ผู้คนที่มาหาจากทั่วสารทิศ เมื่อกลับมาจากกิจนิมนต์ ก็มีญาติโยมมารออยู่ก่อนแล้ว ท่านจะสงเคราะห์ทั้งหมด ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง แล้วในแต่ละวัน ผู้คนที่มาหา ร้อยคนก็ร้อยเรื่องราว จึงทำให้จะหาเวลาในการพักผ่อนแทบจะไม่มี ส่งผลต่อสุขภาพ จนวันหนึ่งท่านล้มทั้งยืน ตรงที่รับศรัทธาญาติโยมนั่นเอง ลูกศิษย์ต้องพาท่านส่งโรงพยาบาล รักษาอยู่หลายเดือน จนสุดท้าย หมอไม่สามารถยื้อไว้ได้
ท่านมรณภาพ เมื่อ วันพุธที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ สิริอายุ ๖๕ ปี พรรษา ๔๔
อาหลำ (เซียนฮู)
ลูกศิษย์ชาวสิงคโปร์
อาหลำ ผู้สัมผัสพลัง ญาณบารมีขององค์พ่อปู่อุทกดาบส (ฤาษีตาไฟ) ซึ่งอยู่ในดินแดนลับแล และเกิดศรัทธา ขอบวชและจำพรรษาที่วัดสามัคคีธรรม พร้อมทั้งได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงปู่หล่ำ และได้คอยช่วยเหลือลูกศิษย์อยู่ที่ ประเทศสิงคโปร์ ในทุกๆปีจะมาร่วมงานไหว้ครูและวันเกิดของหลวงปู่หล่ำตลอด สัมผัสญาณบามีพ่อปู่ฤๅษี
อาหลำ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนพวกมาเฟีย และไม่ได้มีความศรัทธาในพระสงฆ์ เพราะได้เห็นพฤติกรรมพระสงฆ์ที่ไม่ดีมามาก จนมาวันหนึ่ง เขาได้จุดธูปต่อหน้าพระ อธิฐานว่า “ถ้าพระดีมีจริง เก่งจริง ขอให้ได้เห็นบ้าง อยากกราบไหว้เหมือนคนอื่นๆ” แล้วก็หลับตาสงบจิตได้ครู่หนึ่ง ก็มีหอกและดาบอย่างละเล่มพุ่งเข้ามาในตัวเขา จนหงายหลัง แล้วตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาเหมือนมีอะไรมาคอยควบคุมชีวิต กลายเป็นผู้วิเศษ
ใครเป็นอะไรมาปัดเปาให้หายได้หมด คนป่วยติดเตียงมาหลายปี เขาบอกให้ลุกขึ้นเดิน ก็เดินได้เลย ใครเป็นโรคร้ายหมอบอกรักษาไม่ได้ เขาเปาที่เดียวหายเลย เขายังไม่เชื่อตัวเองเลย วันหนึ่งเขาจึงได้รู้ความจริงว่า มีฤๅษีตนหนึ่งคอยควบคุมเขาอยู่ ในฝันนั้นฤๅษีบอกว่า ท่านอยู่ที่เขาฮุดเส่ย ติดกับคลองโอกั้ง ที่นั่นเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ที่นั่นไม่ได้มีแต่ท่านเท่านั้น ยังมีเหล่าผู้ทรงศีลอีกหลายท่าน รวมถึงเจ้าแม่กวนอิมเขียวด้วย ในเมืองไทยมีพระองค์เดียวที่รู้จักที่นั่น ชื่อว่า หลวงพ่อหล่ำ ให้ไปหาท่านแล้วบารมีธรรมของ อาหลำ จะสูงขึ้นกว่านี้ แล้วอาหลำก็ได้ให้คนช่วยสืบหา หาอยู่ระยะหนึ่ง จนมาได้เจอกับหลวงปู่หล่ำ แต่ท่านบอกไม่รู้จักเขาฮุดเส่ยกับคลองโอกั้ง แต่อาหลำก็ยังไม่ท้อ พยายามจนสื่อสารกับหลวงปู่หล่ำได้ว่า คลองโอกั้งน่าจะหมายถึงคลองยายดำ เขาฮุดเส่ย น่าจะหมายถึง เขาชะโงก เพราะหลวงพ่อ หล่ำเคยธุดงค์ไปที่นั่นและนั่งสมาธิเข้าไปในดินแดนแห่งนั้น ปรากฏว่า ด้านในเป็นเมืองทิพย์ที่ซับซ้อนกันอยู่ เป็นที่รวมสัพพวิทยาคมต่างๆ รวมถึงนักสิทธิวิทยา ผู้มีวิชา
ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปยังดินแดนนั้นได้ จากนั้นหลวงปู่หล่ำได้พาอาหลำและคณะไปที่ คลองยายดำ เขาชะโงก จังหวัดจันทบุรี เพียงแค่อาหลำเห็นภูเขาลูกนั้นไกลๆ ก็ร้องแบบตกอกตกใจว่า ใช่แล้วๆ ที่นี่แหละๆ เห็นในฝันอยู่บ่อยๆ เมื่อได้ถึงที่นั่นหลวงปู่หล่ำก็ได้พาชาวสิงคโปร์นั่งสมาธิเข้าไปยังดินแดนนั้น และได้เจอกับปู่ฤๅษีที่บำเพ็ญเพียรอยู่ดินแดนนั้นมาหลายหมื่นปี จึงเชื่อแล้วว่า พ่อปู่ฤๅษีไม่ได้โกหก ในตอนที่จะกลับสิงคโปร์ อาหลำซาบซึ่งจนน้ำตาไหล บอกว่าเขาได้เจอพระดีและเก่งตามที่เขาปรารถนาแล้ว ด้วยเหตุนี้ อาหลำจึงปวารณาจะมาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่หล่ำทุกปีในช่วงตรุษจีน และจะพาลูกศิษย์มาด้วย แล้วพากันไปสวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติธรรมที่เขาชะโงกหรือเขาฮุดเส่ยทุกปี และยังได้นิมนต์หลวงปู่หล่ำไปโปรดญาติโยมที่สิงคโปร์ด้วย โดยแต่ละปีจะมีญาติโยมชาวสิงคโปร์ มาให้สงเคราะห์หลายพันคน อาหลำ (เซียนฮู) ปัจจุบัน เสียชีวิต
ศิษย์องค์สุดท้าย
พระมหาวิบูลย์ กิจฺจสาโร
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสามัคคีธรรม วังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
ชาติภูมิ
พระมหาวิบูลย์ กิจฺจสาโร (วิบูลย์ พุกวิลัย) เกิดวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ ปีมะโรง ตำบลกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง บิดา นายเวียง พุกวิลัย มารดา นางเสาวคนธ์ มีบุญ อาชีพทำไร่ ทำสวน
อุปสมบท
อุปสมบท เมื่อ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ที่วัดธงหงษ์ ตำบล กะเฉด อำเภอ เมือง จังหวัด ระยอง โดยมีพระครูวุฒิธรรมรัต วัดธงหงส์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสะอาด วัดตะพุนทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระประทีป วัดยายจั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา
ปี ๒๕๔๓ นักธรรมเอก
ปี ๒๕๔๕ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
ปี ๒๕๕๗ ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ปี ๒๕๖๐ ปริญญาโท คุรุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษา
เหตุที่มา
ย้อนไปเมื่อปี ๒๕๔๖ พระมหาวิบูลย์ได้มาขออาศัยอยู่วัดสามัคคีธรรม หลวงปู่หล่ำได้ถามถึงบ้านเกิด เมื่อรู้ว่า อยู่จังหวัดระยอง ท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านเคยธุดงค์และพักปักกรด แถววัดปากน้ำระยอง สมัยหลวงพ่อเสียน วัดปากน้ำระยอง หลวงพ่อรวย วัดท่าเรือ และธุดงค์ ผ่านบ้านเพ วัดท่าเรือ สองพี่น้อง บ่อทอง ไปถึงจันทบุรี ตราด ท่านเคยไปสร้างวัดที่ระยอง ชื่อวัดเขาแก้ว
ประกาศิต
คำพูดที่หลวงปู่หล่ำกล่าว ในครั้งที่มาขออยู่ ท่านบอกว่า “มาอยู่น่ะมาอยู่ได้ แต่มาอยู่แล้วก็ต้องช่วยกันนะ” ก็รับปากว่า ได้ครับ ซึ่งก่อนหน้าจะมีอยู่ที่วัดสามัคคีธรรมนั้น พระมหาวิบูลย์ได้ไปขออยู่มาแล้วหลายวัด ไม่มีวัดไหนรับเลย ตั้งใจจะกลับบ้านไปสึก ท่านได้บอกกับตัวเองก่อนเข้าไปหาเจ้าอาวาสว่า ถ้าวัดนี้รับ มีอะไรให้_ทำ _ทำได้หมด
มาอยู่ในตอนนั้น ทางวัดกำลังสร้างตุ๊กแกตัวเล็กรุ่นแรก และวัตถุมงคลอีกหลายอย่าง พระมหาวิบูลย์ได้มีส่วนในการทำมาโดยตลอด ที่ผ่านมาท่านเคยแต่ไปเช่าจากวัดต่างๆ ไม่เคยทำวัตถุมงคลด้วยตัวเองเลย ซึ่งในตอนนั้น เป็นลูกมือให้พระรุ่นพี่ๆ และทำเรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๕๐ (ตอนนั้นท่านพรรษา ๙)
ขอเรียนวิชา
หลังจากช่วยงานมาเข้าปีที่ ๕ จึงได้ตัดสินใจเข้าไปขอเรียนวิชากับหลวงปู่หล่ำ เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วในหมู่ลูกศิษย์ว่า ลูกศิษย์สายวิชานี้ ล้วนแล้วแต่มรณภาพไปก่อนหลวงปู่หล่ำทั้งสิ้น นั่นคือ อาจารย์นา วัดบางปิ้ง อาจารย์เปลว วัดแหลม สมุทรปราการ ท่านเอ่ยกับพระมหาวิบูลย์ว่า แน่ในแล้วหรือที่จะเรียน วิชาสายนี้ ครูท่านแรงนะ อันที่จริงพระมหาวิบูลย์ ก่อนที่จะเข้าไปนั้น ได้จุดธูปบอกพ่อปู่และครูบาอาจารย์แล้วว่า ถ้าหากไม่มีวาสนาบารมี ก็ขอให้ครูบาอาจารย์ บันดาลให้มีอันเป็นไปเร็วๆเลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลา แต่หากว่ามีวาสนาบารมีที่จะสืบทอดวิชา ก็จะใช้ชีวิต และร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา หลังจากนั้น หลวงปู่หล่ำยังไม่ได้รับเลย แต่ได้บอกวิธีแต่งขันธ์ว่าต้องทำอย่างไรและมีขั้นตอนยังไงบ้าง ตั้งแต่ปี ๕๐ เป็นต้นมา ท่านได้เรียนวิชาต่างๆจากหลวงปู่หล่ำ แต่เหมือนมีสิ่งที่ติดขัดหลายๆ อย่าง ร่างกายมีอาการแปลกๆ เคยนอนไม่หลับ ๓ วัน ๓ คืนโดยไม่รู้สาเหตุ จนมาถึงวันไหว้ครู พ่อปู่ฤๅษีได้บอกว่า การเรียนสายวิชานี้มีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องไปทำด้วย ถึงแม้หลวงปู่หล่ำจะอนุญาตแล้วก็ตาม จากวันนั้นมา ได้ตามเส้นทางที่หลวงปู่หล่ำได้เดินธุดงค์และไปเรียนวิชาในหลายๆที่ ทั้งสมุทรปรากร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ ศรีษะเกษ ได้เจอกับอาจารย์หลายท่าน ที่สืบสายวิชาและขาดการติดต่อกับหลวงปู่หล่ำมานาน และเมื่อนำเรื่องราวกลับมาเล่าให้หลวงปู่หล่ำฟัง ท่านก็ยังจำได้ ท่านสามารถจดจำเรื่องราวเก่าๆ ได้เหมือนกับว่าเพิ่งผ่านมาไม่นาน และฝากความคิดถึงไปหาบุคคลเหล่านั้นด้วย หลวงปู่หล่ำจะคอยมั่นถามอยู่เสมอว่า ได้ถึงได้แล้ว แล้วบอกว่า อย่ามาบ่นที่หลังนะ ว่าเหนื่อย ซึ่งที่ท่านเป็นห่วงอยู่เรื่องเดียวเลยคือ กลัวว่าจะอายุไม่ยืน เหมือนลูกศิษย์รุ่นพี่ๆ ในวันไหว้ครูท่านจะยกมือบอกครูบาอาจารย์อยู่ตลอด
วิชาที่เรียน
วิชาที่หลวงปู่หล่ำได้ถ่ายทอดให้พระมหาวิบูลย์นั้น มีหลากหลายแขนง บางวิชาท่องเป็นเดือนก็ยังไม่จำ เรียกว่าวิชาไม่ติด บางวิชาก็ติดเร็ว ครั้งแรกเลยท่านให้ขึ้นวิชามหาปัทมึนหลวงก่อน เพื่อทดสอบความเพียร วิชาลงยันต์ตรีนิสิงเหที่ใช้ทำได้ทั้งผ้ายันต์ ลงตะกรุด ลบผง ทำเชือกคาดเอว วิชาลงน้ำมันงา สักยันต์ ทำตะกรุด ๙ ดอก ตะกรุดนวหรคุณ ลงตะกรุด ๓ กษัตริย์ ลงตะกรุดพระเจ้า ๑๖ พระองค์ ลงตะกรุดพรหมวิหาร ลงกระหม่อม วิชานะอกแตก ลงนะหน้าทอง สาลิกาลิ้นทอง มือรับทรัพย์ ทำตะกรุดใต้น้ำ ลงผ้ายันต์พญาราชสีห์ ลงผ้ายันต์ธงสิวลีใหญ่ วิชาโภคทรัพย์ วิชาสร้างเสือ สร้างหนุมาน หมูทองแดง สร้างแม่นางตุ๊กตากายสิทธิ์ วิชาสร้างตุ๊กแก สร้างจระเข้ สร้างพระราหู วิชาทำน้ำมนต์ วิชาไล่เสนียดจัญไร ฯลฯ